Sign in with Apple ระบบล็อกอินแบบรักษาความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับ iOS 13, macOS 10.15
top of page
  • รูปภาพนักเขียนiPhone iOS Thailand

Sign in with Apple ระบบล็อกอินแบบรักษาความเป็นส่วนตัวที่มาพร้อมกับ iOS 13, macOS 10.15

ในงาน WWDC 2019 นั้น สิ่งหนึ่งที่ฮือฮามากในงานคือการเปิดตัวระบบ Sign in with Apple หรือระบบล็อกอินด้วยการใช้ Apple ID เพื่อมาแข่งกับ Facebook หรือ Google ซึ่งการเปิดตัวช่วงนี้ก็เหมาะพอดีกับการที่บริษัทอื่น ๆ กำลังถูกวิจารณ์เรื่องความเป็นส่วนตัว


ทำไมต้องมี Sign in with

แต่เดิม การสมัครสมาชิกกับเว็บไซต์หรือแอป ผู้ใช้จะต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสมัครสมาชิก เช่น ชื่อ, เบอร์โทรศัพท์, อีเมล และอื่น ๆ ไปจนถึงการยืนยันอีเมล ซึ่งผู้ใช้ก็คงจะไม่อยากเสียเวลาทำซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่ต้องสมัครสมาชิก


ความยุ่งยากดังกล่าว ทำให้ Google, Facebook และบริษัทอื่น ๆ ออกระบบล็อกอินแบบนี้มา ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ใช้มีบัญชี Facebook อยู่แล้ว ถ้าจะล็อกอินแอปอื่น ก็เพียงแค่กด “Sign in with Facebook” เท่านั้น ระบบเบื้องหลังของเว็บหรือแอปก็จะไปแลกโทเคนกับ Facebook ถ้ายังไม่ล็อกอิน Facebook จะถามหน้าล็อกอินมา แต่ถ้าล็อกอิน Facebook อยู่แล้วก็ส่งข้อมูลให้และล็อกอินเข้าแอปหรือเว็บได้เลย ถ้าล็อกเอาท์ไปแล้ว จะล็อกอิน ก็แค่กด Sign in with อีกครั้งเพื่อล็อกอินใหม่ก็เป็นอันจบ


ปัญหาเกิดขึ้น เมื่อทุกวันนี้บริษัทไอทีถูกท้าทายเรื่องความเชื่อมั่น โดยเฉพาะ Facebook ที่มีประวัติการรั่วไหลของข้อมูลอย่างถูกต้อง เนื่องจากไม่ใช่การแฮก แต่เป็นการวางโครงสร้างของบริษัทในช่วงแรกที่ไม่มีการปกป้องข้อมูลผู้ใช้อย่างดีพอ ทำให้ระบบ Sign in with ที่ต้องมีการส่งข้อมูลให้คนอื่นของ Facebook และ Google ก็มีการปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา แต่นั่นก็ยังไม่ทำให้คนเชื่อมั่นในการนำข้อมูลไปอยู่กับ Facebook หรือ Google สักเท่าไร เพราะโมเดลทางธุรกิจที่ยังเน้นหาเงินจากการโฆษณา จึงหลีกเลี่ยงต่อการใช้ข้อมูลไม่ได้เลย


Sign in with Apple คืออะไร

Sign in with Apple ก็คือบริการช่วยล็อกอินเหมือนกับ Sign in with อื่น ๆ แต่ความแตกต่างที่ Apple ชูขึ้นเหนือบริการอื่นคือ Apple เคารพในความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้ ข้อมูลทุกอย่างที่ใช้กับ Sign in with Apple จะไม่ถูกใช้ติดตามผู้ใช้ว่าผู้ใช้ล็อกอินที่ไหนไปแล้วบ้าง


เมื่อผู้ใช้เลือก Sign in with Apple แอปจะได้แค่ชื่อและอีเมลของผู้ใช้เท่านั้น (ถ้าสังเกตดี ๆ เมื่อก่อน บริการอื่น ๆ อาจให้สิทธิ์บางอย่างที่ไม่จำเป็นต่อการล็อกอินเป็นค่าเริ่มต้น เช่น สิทธิ์ในการโพสต์ลงหน้า Facebook ส่วนตัว เป็นต้น แต่ Facebook และ Google เพิ่งจะทยอยปรับปรุงในช่วงหลังมานี้) โดยในฝั่งอีเมล Apple จะมีปุ่มให้กดใช้อีเมลจริงหรือซ่อนอีเมล ซึ่งหากเลือกซ่อนอีเมล Apple จะสุ่มที่อยู่อีเมลให้ใหม่เพื่อกรอกลงไปกับเว็บ โดยอีเมลที่สุ่มขึ้นมาใหม่จะเชื่อมโยงเข้ากับอีเมล Apple ID จริง


ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใช้มีใช้ Apple ID คือ johna@icloud.com และจะลงทะเบียนผ่าน Sign in with Apple เลือกสุ่มอีเมล Apple จะสุ่มอีเมลมาให้แล้วได้ชื่อ a244sslk282@privaterelay.appleid.com เมื่อมีอีเมลส่งมาที่ a244sslk282@privaterelay.apple.com แล้ว ​Apple ก็จะส่งต่ออีเมลนั้นไปที่ johna@icloud.com

การใช้อีเมลลักษณะนี้จะง่ายต่อการซ่อนตัวตนและการบล็อคอีเมล เพราะเราไม่ทราบว่าแอปที่ไม่น่าไว้ใจอาจนำอีเมลเราไปขายหรือทำการตลาด ซึ่งจะส่งผลให้มีอีเมลขยะตามมามากมาย ถ้าเราซ่อนตัวตนไว้แล้ว เพียงเลิกรับอีเมลที่ส่งต่อมาจากชื่ออีเมลสุ่มก็จบ


ใช้อย่างไร ได้ใช้เมื่อไร

Sign in with Apple จะใช้งานคล้ายกับ Sign in with ของบริษัทอื่น ๆ คือกดปุ่มเดียวแล้วล็อกอิน ตรวจสอบว่าจะส่งข้อมูลอะไรให้บ้าง ซึ่งจะมี Touch ID หรือ Face ID ให้ยืนยันความเป็นเจ้าของข้อมูลก่อนที่จะยืนยันการส่งข้อมูล


Apple มีกำหนดออก Sign in with Apple ให้ใช้งานพร้อม iOS 13, iPadOS 13, macOS 10.15 Catalina รวมถึง OS บนอุปกรณ์อื่น ๆ ของ Apple ซึ่งมีกำหนดออกปลายปีนี้ โดย Apple ออกเป็นกฎด้วยว่าแอปทุกแอปบน App Store ที่มีระบบ Sign in with บริษัทอื่น จะต้องมีตัวเลือก Sign in with Apple ให้ผู้ใช้เลือกใช้งานด้วย


ที่มา – CNET, Apple Developer

bottom of page